วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

Deep Purple - Smoke On The Water

ขับงึม ขับร้องอัตลักษณ์ของชาวลาวพวน

ภูมิหลัง
               การขับร้องเพลงพื้นบ้านเป็นกิจกรรมดนตรีของชุมชนระดับท้องถิ่น มีความเรียบง่าย ตอบสนองต่อชุมชนได้โดยตรง ชุมชนนำเพลงพื้นบ้านเข้ามาปรุงแต่งวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม เพลงพื้นบ้านจึงมีส่วนช่วยสร้างเสริมความเข้มแข็งของชาวบ้านในชุมชนทางด้านจิตใจ ขนบธรรมเนียมประเพณีและระบบของชุมชนความเรียบง่ายของเพลงพื้นบ้านมีผลดีต่อชาวบ้านในชุมชน เพราะเพลงพื้นบ้านที่ปรากฏออกมาในรูปแบบการบรรเลงเครื่องดนตรี บทร้อง ทำนองเพลง เป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ในช่วงสั้น รวดเร็วและมีลักษณะการซ้ำทำนอง ซ้ำจังหวะ โดยมีเนื้อความของบทร้องที่พรรณนาไปตามการจดจำอย่างวิธีการที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” บางลักษณะเป็นการนำมาเล่นหรือแสดงหรือร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มุ่งความรื่นเริง ใช้วิธีการด้นหรือภูมิปัญญาที่เกิดจากปฏิภาณกวีของผู้เล่นเพลงพื้นบ้านนั้นๆ
               เพลงพื้นบ้านเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวบ้านที่ร้องเล่นกันตามท้องถิ่นต่างๆ เพื่อความเพลิดเพลินบันเทิงใจเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาโดยร้องเล่นปากต่อปากอาศัยการฟังและจดจำ ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรมักร้องเล่นกันในเทศกาลต่างๆ เป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน นอกจากสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เนื้อเพลงพื้นบ้านยังให้สาระน่ารู้ คติสอนใจและการอบรมบ่มนิสัยเยาวชนให้รู้จักวิถีชีวิตที่ดีงามของบรรพบุรุษและคนในท้องถิ่น (สุกัญญา  สุจฉายา    2543 : 18)
                การขับลำของมนุษย์เป็นการร้องหรือขับลำที่ต้องด้นเป็นคำกลอนและการขับลำเป็นศิลปะพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่นที่เป็นศิลปวัฒนธรรมแขนงหนึ่งซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล โดยจัดอยู่ในวัฒนธรรมด้านดนตรีและการแสดงเพลงพื้นบ้าน
                ขับและลำเป็นการละเล่นดั้งเดิมของประชาชนชาวสยามในตระกูลไทยลาว ที่มีความหมายถึงการเปล่งเสียงและถ้อยคำเป็นหลักนำทำนอง มักเล่นเล่าเรื่องและโต้ตอบระหว่างชายหญิง ประเพณีขับและลำเคยแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนชาวสยามทุกท้องถิ่น เช่น กลุ่มลุ่มน้ำแดงดำ ในภาคเหนือของเวียดนาม กลุ่มลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่เขตสิบสองปันนา ในมณฑลยูนนานของจีนลงมาตลอดแนวไทย-ลาว กลุ่มลุ่มน้ำสาละวิน ในภาคเหนือของพม่า และกลุ่มที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (สุจิตต์ วงษ์เทศ    2542 : 48)
                   “ขับ”และ”ลำ” ต่างก็ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบเสียงร้องให้ทำนองและจังหวะทั้งผู้ชายและผู้หญิง ลาวสูงเพิ่มปี่ เป็นเครื่องดนตรีประกอบและแคนเป็นชนิดพิเศษแตกต่างจากลาวลุ่มและลาวเทิง กลอนสำหรับขับลำนั้น นิยมใช้กลอนผญา กลอนลำเยิ้น กลอนลำล่อง กลอนธรรมดา สำหรับขับลาวสูง ขับไทลื้อ ขับไทดำ นิยมใช้กลอนที่เป็นภาษาของแต่ละชนเผ่า (ทองคำ  อ่อนมะนีสอน    2551 : 43)
                   ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีมรดกทางด้านศิลปะ ดนตรี ร้องและขับลำที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นประจำชนเผ่าต่างๆ ซึ่งมีหลายชนเผ่า มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมและภาษา ความเป็นอยู่ ตลอดจนวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและเป็นการผสมกลมกลืนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างเป็นปึกแผ่น
เมืองทุละคม แขวงเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นเมืองที่มีการขับงึมเป็นมรดกวัฒนธรรมด้านดนตรีและการแสดงเพลงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าต่อประชาชนชาวเผ่าลาวพวนที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำงึม
                       ขับงึมเป็นศิลปะวรรณคดีประเภทหนึ่ง ในจำนวนขับลำทั้งหลายที่ยังคงตัวและขยายตัวอยู่ในลาว ซึ่งมีความนิยมที่สูงสุดโดยเฉพาะอยู่ในแขวงเวียงจันทน์ ขับงึมเป็นประเภทขับลำที่มีมาแต่โบราณ มีความคงตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นมรดกอันล้ำค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติลาวอีกด้วย ทั้งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษลาวที่ได้สร้างไว้ในด้านรูปแบบและทำนองซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก การขับงึมเป็นการขับลำอีกประเภทหนึ่งที่ใช้ขับตามแบบคำกลอนหรือคำผญา เรียกว่าหมอผญา ดังนั้นขับงึมก็สามารถขับได้ทุกบทกลอนสิ่งที่ขับงึมแตกต่างจากขับลำประเภทอื่นๆ คือ ด้านทำนองหรือสำเนียงขับ(กะวิน เกียงคำชนนี    2540 : 6)
                        การขับงึมนั้นมาจากการอ่านหนังสือเทศน์ หรือ การอ่านหนังสือวรรณกรรมพื้นบ้าน จนกลายมาเป็นขับงึมในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่มีลักษณะเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง เป็นวรรณกรรมของชาวบ้านในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้อนุรักษ์ และผู้ใช้ วรรณกรรมจึงมีบทบาทสำคัญในสังคมลาว คือควบคุมสังคมให้เป็นระเบียบด้วยการสอนจริยธรรมให้แก่ประชาชน ที่ได้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตลอดจนสอนเรื่องระเบียบจารีตประเพณีอันดีงามที่จะพึงปฏิบัติให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงอีกด้วย (พระอินตอง  อุตฺตโม    2550 : 75)
                         จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าการขับงึมเป็นสัญลักษณ์ประจำแขวงเวียงจันทน์ ที่ประชาชนได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษจนมาถึงปัจจุบัน เพลงขับงึมส่วนมากจะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เนื่องจากขับงึมมีพื้นฐานมาจากการเทศน์แหล่ของพระ จึงทำให้เนื้อหาของบทกลอนขับงึมไม่สลับซับซ้อนมากนัก เพราะเนื้อหาของบทเพลงขับงึมมีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสอดแทรกอยู่ด้วยจึงทำให้เข้าใจง่ายสามารถนำมาปฏิบัติได้
                     การขับงึมเป็นขับลำพื้นบ้านที่มีรูปแบบหนึ่ง ที่มีเอกลักษณ์ประจำเผ่าพวนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำงึม การขับร้องก็ไม่ต้องอาศัยเครื่องดนตรีหลายชิ้น มีเพียงแคนและซอเท่านั้น คนที่จะมาขับร้องได้จะต้องเป็นคนที่มีไหวพริบในการขับโต้ตอบเย้าแหย่ฝ่ายตรงข้าม และมีความรู้ความสามารถในการใช้ ผญา เสียงก็เป็นอีกองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการขับงึม ถ้าหมอขับงึมคนไหนเสียงดีเสียงไพเราะก็จะได้รับความนิยมสูง ส่วนท่วงท่าทำนองของการขับก็เป็นอีกลีลาหนึ่งในการร้องที่ต้องอาศัยการเอื้อนเสียงอยู่ตลอดเวลา และจะต้องมีระดับเสียงสูงอย่างสม่ำเสมอเพื่อจะได้เปล่งเสียงให้ได้ยาวนานและให้เป็น(พระอินตอง  อุตฺตโม    2550 : 30)
                        เพลงขับงึมได้เสริมสร้างคุณค่าในทางด้านจิตใจ ให้แก่ผู้ฟังที่ได้รับความรู้สึกจากศิลปะในการฟังมากที่สุด เพราะเพลงขับงึมให้ความร่าเริงบันเทิงใจแก่ประชาชนชาวแขวงเวียงจันทน์ เนื่องจากเนื้อหาของบทเพลงขับงึมให้ความรู้ทางด้านคติโลกและคติธรรม เช่น ประวัติศาสตร์ จารีตประเพณี และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

เหตุผลที่ต้องเรียนดนตรี

ดนตรีช่วยทำให้จิตใจงดงาม ดนตรีช่วยทำให้เกิดสมาธิ ดนตรีทำให้กล้าแสดงออก ดนตรีทำให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ดนตรียังมีความสำคัญและคุณค่าด้วยตัวของดนตรีเอง ดังเช่น
1. ดนตรีเป็นเรื่องของสติปัญญา สติปัญญาของมนุษย์ (Intelligence) ไม่ได้มีเพียงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เท่านั้น แต่สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้าน และดนตรีก็เป็นสติปัญญาด้านหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์ชาติ และอารยะธรรมของโลก
2. ดนตรีถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึง รูปแบบของอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิดของมนุษย์ ซึ่งภาษาทำไม่ได้ ดนตรีไม่ใช่เป็นเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกแบบเพ้อฝัน แต่ดนตรีเป็นเรื่องของการแสดงออกถึงตัวตนอันแท้จริงของมนุษย์ ดนตรีถูกใช้เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้ ช่วยทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้ ได้รู้จักเพื่อนมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันทางความคิด ความรู้สึก
3. ดนตรีช่วยสร้างความสมดุลระหว่าง เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์กับเหตุผลแบบศิลปะ จากเดิมที่มนุษย์ให้ความเคารพกับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีคำตอบ 2 ด้านคือ ถูกและผิด ซึ่งปัจจุบันส่งผลต่อกระบวนการคิดของมนุษย์ ส่งผลให้โลกเกิดการแบ่งค่ายไม่ขวาก็ซ้าย ขาดการยอมรับซึ่งความคิดที่แตกต่างออกไปจากคน โลกต้องการคิดแบบที่ไม่เน้นถูกผิดแบบวิทยาศาสตร์ แต่ต้องการมีเหตุผลเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยใช้สุนทรียะ ความงาม ความไพเราะที่ไม่ได้ตอบว่า ถูก ผิด เป็นตัวตัดสินใจ แต่ตอบว่าเหมาะสม ไม่เหมาะสม และถ้าไม่เหมาะสมนั้นเป็นเพราะอะไร
ดนตรีช่วยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม สามารถใช้การตัดสินใจทางสุนทรียะมาเป็นเครื่องมือในการตัดสิน และถ้าผู้เข้ารับการฝึกอบรมถูกฝึกอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลต่อในภายหน้าที่เยาวชนในวันนี้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองไทย พลโลก จะไม่ใช่การตัดสินแบบถูกผิดแบบวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ ส่งให้สังคมเกิดวิกฤตดังเช่นปัจจุบัน
4. ดนตรีเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ต้องการผู้ที่สืบผ่านวัฒนธรรมการดนตรีที่เข้มแข็ง หน้าที่ของดนตรีศึกษาคือ การสร้างผู้ฟัง นักดนตรี และนักประพันธ์งานดนตรีที่มีคุณภาพ ที่ทำให้สังคมมั่นใจได้ว่า เยาวชนในวันนี้จะเป็นผู้ที่อนุรักษ์ บำรุงรักษา สืบทอดสืบผ่านวัฒนธรรมการดนตรีที่เชื่อมั่นได้ต่อไป ซึ่งสิ่งดังกล่าวก็คือหน้าที่ของดนตรีศึกษา
5. ดนตรีสร้างความสุข มนุษย์สร้าง เล่น ฟังดนตรีเพื่อความสุขมานับตั้งแต่ที่มนุษย์ได้สร้างงานดนตรีเพิ่มคุณภาพให้กับชีวิต และดนตรีเป็นความสุขอันประณีตโดยไม่ต้องใช้เงิน และโดยธรรมชาติ มนุษย์ต้องการที่จะเสพความสุขจากงานดนตรีที่มีคุณภาพ หน้าที่ของดนตรีศึกษาคือการนำพาให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้โลกของดนตรี ค้นพลและแสวงหาความสุขอันประณีตที่มีคุณค่าและคุณภาพต่อชีวิตด้วยดนตรี
6.ดนตรีสร้างสังคม สร้างชุมชน สร้างวัฒนธรรม งานดนตรีไม่ใช่เป็นเพียงแค่เสียง แต่ดนตรีนั้นมีบทบาทต่อการดำรงอยู่ของชุมชน ของวัฒนธรรม ลองจินตนาการดูว่า ในพิธีกรรม หรือในพิธีกรรมของชุมชน แล้วไม่มีดนตรี พิธีกรรมนั้นก็อาจจะสูญหายไป ส่งผลตค่อความเข้มแข็งของชุมชน สังคม ดนตรีจึงเป็นส่วนหนึ่งมีหน้าทีบทบาทสร้างสังคม สร้างชุมชน สร้างวัฒนธรรม